วันพุธที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2556

ASEAN Economic Ministers ( AEM )

การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Ministers – AEM)


บรูไนดารุสลามเป็นเจ้าภาพการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Ministers – AEM) และการประชุมที่เกี่ยวข้อง โดยการหารือเกี่ยวกับการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะเป็นวาระสำคัญของการประชุม
การประชุมในครั้งนี้จัดขึ้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติเบรังกัส โดยมี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศและการค้าของบรูไน เป็นประธานการประชุม  ซึ่งการประชุมคาดว่าจะมีการทบทวนความสามารถของภูมิภาคในสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน รวมทั้งยังมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับวิธีการที่อาเซียนจะเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันของภูมิภาค รวมถึงการเพิ่มความเข้มแข็งของภูมิภาคในฐานะห่วงโซ่อุปทานของโลก นอกจากนี้ ยังจะมีการหารือความคืบหน้าของการร่วมมือแบบบูรณาการของประเทศสมาชิก โดยเฉพาะในเรื่องของการค้าและการลงทุน
นอกจากการประชุมหลักแล้ว ยังมีการประชุมการลงทุนอาเซียนครั้งที่ 3 การประชุมสุดยอดธุรกิจและการลงทุนอาเซียน ฟอรัมเยาวชนจีน อาเซียน ที่จัดโดยคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจของบรูไน สภาที่ปรึกษาธุรกิจและสมาคมผู้ประกอบการรุ่นเยาว์ของบรูไน

AEM เร่งเตรียมความพร้อม รับประชาคมอาเซียนให้ทันปี 2558

            ปิดฉากการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ครั้งที่ 45 ณ กรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน ประเทศบรูไน ไปแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาฝ่ายไทยนำโดย นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้เพื่อติดตามผลการดำเนินงานก่อนเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558ผลการดำเนินงานตามพิมพ์เขียวอาเซียน (Blueprint) ขณะนี้ดำเนินการได้แล้วกว่า 80% ของภาระงานทั้งหมด โดยสิงคโปร์ มาเลเซีย และไทยเป็นประเทศที่เตรียมความพร้อมได้คืบหน้าสูงสุด ส่วนฟิลิปปินส์และกัมพูชายังต้องเร่งฝีเท้าก้าวให้ทัน     ปี 2558 เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองและความน่าเชื่อถือของอาเซียนต่อประชาคมโลก


ในด้านการลดภาษีสินค้า ส่วนใหญ่จะเป็น 0% ไปแล้ว เพียงแต่ต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาที่เป็น "อุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ ภาษี" หรือ NTB ซึ่งในการประชุมครั้งนี้มีมติให้ประเทศสมาชิกสรุปมาตรการทางการค้าที่เป็นกรณีศึกษา 1 เรื่อง และขอให้ดำเนินการแก้ไขให้เสร็จภายใน 1 ปี เช่น ขอให้อินโดนีเซียและมาเลเซียลดภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมทั้งลดการใช้มาตรการภาษีภายในประเทศ เช่น ภาษีสรรพสามิต และเวียดนามควรลดภาษีสินค้าปิโตรเลียม เป็นต้น


ด้านการค้าบริการ ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนรับทราบสถานะการดำเนินการจัดทำข้อผูกพันชุดที่ 9    ของประเทศสมาชิกที่ล่าช้าอยู่ ซึ่งอาเซียนยังเหลือข้อผูกพันการค้าบริการชุดที่ 10 อีก 1 ชุด ที่จะต้องทำให้เสร็จในปี 2558 ตามเจตนารมณ์ที่ต้องการให้นักธุรกิจจากประเทศอาเซียนสามารถถือหุ้นได้อย่างน้อย 70% ในประเภทธุรกิจบริการที่ตกลงกัน ส่วนด้านการลงทุนช่วงที่ผ่านมาพยายามเร่งผลักดันให้เปิดเสรีเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ผลความตกลงมีผลใช้บังคับอย่างเป็นทางการแต่ยังไม่สัมฤทธิ์เท่าที่ควร

ด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า ภาคเอกชนเสนอให้สินค้าของอาเซียนไม่ต้องสำแดงมูลค่าสินค้า ณ ท่าเรือต้นทาง หรือ FOB ในหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าฟอร์มดีของอาเซียน ในกรณีที่สินค้านั้นผลิตได้ทั้งหมดในประเทศสมาชิก หรือมีการผลิตและแปรสภาพสินค้าตามเกณฑ์ที่อาเซียนกำหนด เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าให้กับผู้ส่งออก โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม เท่าที่ประเมินปัญหาอุปสรรคที่สำคัญของการดำเนินการเข้าสู่ AEC สำนักเลขาธิการอาเซียนพบว่าความล่าช้าในการให้สัตยาบันความตกลงอาเซียน/พิธีสารให้มีผลบังคับใช้ ปัญหาการปรับกฎหมาย กฎระเบียบ ภายในประเทศซึ่งส่งผลต่อการรวมภูมิภาค การขาดเจตนารมณ์ทางการเมืองในการดำเนินการเรื่องการรวมกลุ่มภูมิภาค และข้อผูกพันเฉพาะของแต่ละประเทศ 

          สิ่งที่จะต้องเริ่มดำเนินการเพื่อให้ทันเวลาในการรวมกลุ่มประชาคมอาเซียนในปี 2556 และปี 2558 (Prioritized AEC Deliverables for 2013 and 2015) เช่น การจัดตั้ง National Single Window การจัดทำข้อผูกพันเปิดเสรีการค้าบริการชุดที่ 9 และ 10 เป็นต้น (Prioritized AEC Deliverables for 2013 and 2015) ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ

การหารือรัฐมนตรีอาเซียนคู่ค้า

           นอกจากนี้รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนยังได้หารือเพื่อเตรียมการเยือนจีนในช่วงปลายปี 2556 ส่วนการเจรจาความตกลงการค้าเสรีอาเซียน +6 หรือ RCEP ในครั้งนี้ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าการเจรจาของคณะกรรมการเจรจาการค้า และคณะทำงานการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน และหารือประเด็นใหม่ เช่น นโยบายการแข่งขัน ทรัพย์สินทางปัญญา ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การระงับข้อพิพาท เป็นต้น โดยคณะเจรจาฯมีกำหนดจะประชุมครั้งที่ 2 ในวันที่ 23-27 ก.ย.นี้ที่เมืองบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย เพื่อเจรจาให้เสร็จทันในปี 2558

ทวิภาคีไทย-คู่ค้า 

         นายนิวัฒน์ธำรงยังมีกำหนดหารือระดับทวิภาคีกับผู้แทนในภาครัฐบาลจาก 3 ประเทศ คือ รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าฟิลิปปินส์ (Mr.Gregory L. Domingo) เพื่อขอให้
        1) เปิดตลาดนำเข้าข้าวไทยให้มากขึ้น และขอเปิดตลาดสินค้าไก่ไทยหลังปลอดเชื้อหวัดนัก โดยคาดว่าจะมีการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้าไทย-ฟิลิปปินส์ ครั้งที่ 1 ในวันที่ 19-20 กันยายนนี้ ที่กรุงมะนิลา

2) พบหารือ 2 ฝ่ายกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าอินโดนีเซีย เพื่อขอให้อินโดนีเซียนำเข้าข้าวจากไทยเพิ่มขึ้น และติดตามเรื่องการทำสัญญาซื้อขายข้าว เพื่อให้แล้วเสร็จโดยเร็ว รวมทั้งแจ้งข้อกังวลในการส่งออกผักและผลไม้ที่กำหนดจุดนำเข้าสินค้าผักและผลไม้ไทยจนทำให้ค่าใช้จ่ายค่าขนส่งเพิ่มขึ้น



3) พบหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยภาคเอกชนสิงคโปร์มีความสนใจที่จะมีส่วนร่วมในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของไทย (โครงการ 2 ล้านล้านบาท) และด้านพลังงานทดแทน รวมทั้งลู่ทางการลงทุนด้านการท่องเที่ยวเรือสำราญ นอกจากนี้ยังขอให้สิงคโปร์พิจารณาตรวจรับรองโรงงานผลิตของไทยเพื่ออนุญาตให้นำเข้าไก่แช่เย็น/แช่แข็งด้วย 


    นอกจากนี้ยังพบกับคณะนักธุรกิจ ผู้แทนจากสภาธุรกิจอาเซียน-สหรัฐ (USABC) โดยเอกชนสหรัฐสนับสนุนให้ไทยเข้าร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) พร้อมกันนี้เอกชนสหรัฐแสดงความสนใจที่จะให้ความช่วยเหลือโครงการรถไฟความเร็วสูงของไทย และขอให้ไทยเป็นผู้นำในการลดอุปสรรคทางการค้าอาเซียน เพื่อสหรัฐจะลงทุนในไทยเป็นศูนย์กลางขยายตลาดรถยนต์ไปยังมาเลเซียและพม่า ขณะที่บริษัท Philip Morris ได้แสดงความเป็นห่วงว่ามาตรการควบคุมการบริโภคยาสูบของกระทรวงสาธารณสุขที่ปรับแก้เพิ่มความเข้มงวดกับฉลากซองบุหรี่ กระทบต่อการค้าของบริษัทอีกด้วย




ขอขอบคุณข้อมูลจาก 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น